fbpx

Mother… เรียกฉันว่าแม่

วันนี้ Ze’-alots Boutique Post Production ผู้ให้บริการด้านงาน Post Production ที่อยู่เบื้องหลังงานโฆษณา มิวสิควิดีโอ และภาพยนตร์ซีรีส์อีกมากมาย ได้เปิดห้องทำงานและเอื้อเฟื้อสถานที่ให้ทาง Digital OZ เข้าไปสัมภาษณ์พี่ๆทีมผู้สร้างซีรีส์ “Mother… เรียกฉันว่าแม่” ซีรีส์ที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลในงาน Asian Television Award 2020 ที่กำลังจะประกาศผลในวันที่ 15-16 มกราคม 2021 นี้

“Mother…เรียกฉันว่าแม่” ฉายบนแพลตฟอร์มของ Line TV เป็นเรื่องราวของคุณครูที่ต้องสวมบทบาทเป็นแม่ เพื่อเข้าไปช่วยเหลือเด็กนักเรียนที่มีปัญหาทางครอบครัว เธออาสาเป็นแม่ของเด็กและพาหลบหนี ซึ่งในการเดินทางนั้นก็ได้เผชิญเรื่องราวต่างๆ และต้องคลี่คลายปมของครอบครัวตัวเอง นำแสดงโดยแพนเค้ก เขมนิจ จามิกรณ์, น้องมากิ มาชิดา สุทธิกุลพานิช และนักแสดงชั้นนำอีกมากมาย

พี่เอ้อ (บุณณ์ญาณ์ อริยศรีวัฒนา) ในฐานะผู้กำกับร่วม, พี่อ๊อฟ (วิศรุต จันทร์เพ็ญศรี) ตัดต่อ และพี่เกมส์  (พลากร พวงกุหลาบ) คัลเลอร์ลิสต์ผู้ออกแบบลุคและสีให้กับภาพ ทั้งสามท่านได้ให้เกียรติในการสัมภาษณ์กับเราในครั้งนี้ พี่ทั้งสามท่านบอกเราว่า ดีใจมากตอนทราบข่าวว่าซีรีส์เรื่อง Mother ได้เข้าชิงรางวัลถึง 7 สาขา ทางทีมงานเลยอยากมาสัมภาษณ์ความรู้สึกและอยากจะให้พี่ๆ แบ่งปันความรู้เกี่ยวกับกระบวนการทำงาน และประสบการณ์ที่ได้ใช้สินค้าจาก Blackmagic Design ไม่ว่าจะเป็น Blackmagic Pocket Cinema Camera 6K, ไฟล์ Blackmagic RAW และซอฟต์แวร์ DaVinci Resolve

 เราเริ่มบทสนทนาด้วยการถามย้อนไปถึงขั้นตอนเตรียมงานก่อนการถ่ายทำ หรือที่เรียกว่าขั้นตอน Pre-Production 

พี่เอ้อ ได้ปรึกษาพี่ห่าน (สิทธิพงษ์ กองทอง)ผู้กำกับภาพซีรีส์เรื่องนี้ เกี่ยวกับการตัดสินใจเลือกกล้องสำหรับถ่ายทำ พี่เอ้อบอกว่า “เรารู้จักกล้องแบล็กเมจิกอยู่แล้ว แค่ยังไม่ได้มีโอกาสได้ใช้ แต่ด้วยซีรีส์เรื่องนี้ต้องไปถ่ายทำที่ต่างจังหวัด และเราต้องการกล้องที่มีขนาดเล็กซึ่งในขณะเดียวกันไฟล์ก็ต้องมีคุณภาพสูงเพื่อส่งไปทำงานที่ห้องเกรดสีต่อได้” 

“กล้อง Blackmagc Design ค่อนข้างตอบโจทย์เราในเรื่องนี้ เพราะการทำงานหน้ากอง ต้องพกพาอุปกรณ์ที่ไปกับเราได้ทุกที่ และเราสามารถมีไว้ 2-3 ตัว เพื่อรับช็อตต่างๆได้ทัน เราไปถ่ายทำกันที่จังหวัดน่าน ภูเก็ต ชลบุรี และที่บางปู เพราะในเรื่องราว แม่กับลูกจะต้องหลบหนีไปในโลเคชันต่างๆ  อีกเหตุผลหนึ่งก็คือ เนื่องจากซีรีส์ที่รับโจทย์จากทาง Line TV ต้องทำตามคุณภาพที่กำหนดไว้ ซึ่งคุณภาพไฟล์ที่ได้จากกล้องนี้คือ Blackmagic Raw”  พี่เอ้อเสริมอีกว่า “ตอนนี้ซีรีส์ต้องใช้ไฟล์ที่มีคุณภาพสูงสำหรับการ Process ทางภาพ โดยเฉพาะเมื่อเราต้องส่งทำสี ไฟล์ที่ได้จากการถ่ายทำ ก็ต้องมีคุณภาพมากพอสำหรับการทำงานอีกด้วย นอกเหนือจากนั้น งานบ้านเราในปัจจุบัน มีโอกาสที่จะสามารถส่งไปขายให้กับต่างประเทศ ซึ่งต่างประเทศเองก็จะมีมาตรฐานที่กำหนดไว้แล้ว”

พี่เอ้อเล่าถึงระยะเวลาในการเตรียมว่า หลังจากที่เราได้รับโจทย์มา มีเวลาเตรียมงานค่อนข้างกระชั้นชิด การทำบทก็เลยต้องควบคู่ไปกับการทำ Pre-Production เนื้อเรื่องที่วางไว้จะไปในแนวของซีรีส์ดราม่า โทนสีภาพที่ต้องการ คือสีหม่นออกไปทางดาร์กเพื่อสะท้อนอารมณ์ของตัวละคร โดยมีสีเขียว Turqiose ผสมสีเหลือง

ในส่วนการเตรียมงานจะส่งบรีฟ และภาพ Reference ของสี ไปให้ที่ Ze’-alots ช่วยประสานงานกับคัลเลอร์ลิสต์ ซึ่งคือพี่เกมส์นั่นเอง พี่เอ้อบอกว่า Ze’-alots ทำงานค่อนข้างเป็นระบบอยู่แล้ว พอพี่เกมส์ได้รับโจทย์มาเค้าก็จะไปเตรียมตัว ปรับ Mood&Tone ของภาพให้ได้อย่างที่พี่เอ้อต้องการ 

พี่เกมส์บอกว่าในส่วนของการทำงาน พี่เกมส์จะมีผู้ช่วยคัลเลอร์ลิสต์ที่จะเตรียมงาน ทำการคอนฟอร์ม (Conform) ไฟล์จากโปรแกรมตัดต่อเข้ามาเพื่อทำสีใน DaVinci Resolve 

 กระบวนการในการทำสี พี่เกมส์บอกว่าดูคัตติ้ง ของ EP. นั้นไปก่อน 2-3 รอบ เพื่อให้เข้าใจเนื้อเรื่องที่พี่เอ้อและพี่อ๊อฟ ต้องการจะสื่อออกไป โดยตลอดกระบวนการทำงานนั้น ทั้งในส่วนของผู้กำกับ นักตัดต่อ และคัลเลอร์ลิสต์ก็จะคุยแลกเปลี่ยนไอเดียกันตลอด 

ด้านพี่อ๊อฟ ผู้รับหน้าที่ตัดต่อซีรีส์ บอกเราว่าทำงานกับพี่เอ้อ ครั้งแรก ตอนที่พี่เอ้อมาดูงานก็มีลุ้นๆเหมือนกันว่าจะเป็นยังไง จะชอบงานของเราไหม สุดท้ายก็ผ่านไปได้ด้วยดี แล้วก็คลิกกันได้ในเรื่องของการแลกเปลี่ยนไอเดียกันด้วย

“สำหรับผมเรื่องนี้ถือว่าเป็นการตัดต่อซีรีส์แนวดราม่าเรื่องแรกครับ ปกติผมจะตัดงานประเภทคอมเมดี้เป็นส่วนใหญ่ ซีรีส์คอมเมดี้จะมีดราม่าบ้างครับ แต่สำหรับเรื่องนี้ โห ดราม่า เกือบทั้งเรื่องเลย ก็มีการเตรียมตัวพอสมควร การทำงานก็ต้องตัดไปออนไป มีความท้าทายมากที่ต้องทำงานให้ทันเวลา แล้วช่วงนั้นเป็นช่วงที่มีเคอร์ฟิวด้วย กลับบ้านไม่เกินสามทุ่ม ก็ต้อง Manage เวลาให้ดีครับ”
พี่อ๊อฟพูดกับทีมงานอย่างอารมณ์ดี

เราถามถึงขั้นตอนของการถ่ายทำ หรือที่เรียกว่า Production กับพี่เอ้อ ผู้เป็นเสมือน Conductor ที่จะคอยกำกับการแสดงและควบคุมนักแสดง ให้สามารถถ่ายทอดอารมณ์ ในบริบทของ “แม่” ในแง่ต่างๆ พี่เอ้อบอกกับเราว่า

“ซีรีส์เรื่องนี้ถือเป็นการเล่าเรื่องรวมจักรวาลของ “แม่” มาอยู่ด้วยกัน มีทั้งตัวละครหลัก ที่มีแพนเค้กรับบทเป็นแม่ และน้องมากิ หนูน้อยที่มารับบทเป็นลูกบุญธรรรม รวมถึงตัวละครที่เป็นแม่ในบทบาทต่างๆ”  ทางเราแลกเปลี่ยนความรู้สึกกับพี่เอ้อว่า ตอนที่เราดูซีรีส์ เราได้เห็นพัฒนาการในการแสดงของน้องมากิจาก EP.แรกจนถึง EP.สุดท้าย ในฐานะทีมงานที่เป็นคนดู ตอนที่นักแสดงเค้นอารมณ์ออกมา เราดูแล้วบีบหัวใจเหลือเกิน

พี่อ๊อฟ เสริมว่า นักแสดงที่ดี จะทำให้เราสามารถเค้นอารมณ์ทางภาพออกมาได้ดี ให้ลองไปดูน้องมากิถ่ายทอดอินเนอร์ในซีรีส์เรื่องนี้ร่วมกับนักแสดงคุณภาพท่านอื่นๆได้เลย

พี่เอ้อเล่าให้เราฟังว่า “ตัวบทพัฒนามาจากต้นฉบับของประเทศญี่ปุ่นครับ ซึ่งมีหลายประเทศนำไปพัฒนาบท และดัดแปลงออกมาให้เป็นบริบทของประเทศตัวเอง อย่างของประเทศไทยเราก็มีตัวบทกฏหมายที่ส่งผลต่อตอนจบของเรื่อง ซึ่งจะต่างจากต้นฉบับของประเทศญี่ปุ่น ในแง่ของความเป็นไทยเราเลือกที่จะทำในแบบที่คนไทยชอบ อย่างการใช้คำพูด หรือมีซีนของการทะเลาะกันในครอบครัว ที่มีลักษณะความเป็นครอบครัวคนไทย หรือบริบทการสืบสวนสอบสวนแบบไทยๆ”

ลุคของภาพตอนไปถ่ายทำ พี่ห่านจะทำการเกรดสีให้ดูคร่าวๆก่อน เพื่อให้พี่เอ้อเห็นภาพของลุคและดีไซน์สี ก่อนที่จะส่งไปที่ห้องทำสีให้พี่เกมส์อีกที

ตอนนั่งสัมภาษณ์ พี่เกมส์จะคอยเปิดภาพในซีนต่างๆที่พี่เอ้อพูดถึง เช่นซีนริมทะเลสาบ
“มีโลเคชันนึงที่ถ่ายทำที่ชลบุรี วันนั้นฝนทำท่าจะตกแต่เช้า แดดไม่เปรี้ยงมาก ซึ่งถ้าดู RAW  File จริงๆจะตกใจมาก เพราะท้องฟ้าจะขาวโพลนไปเลย แต่ด้วยกระบวนการทำสี เราก็สามารถทำให้ภาพมีมิติขึ้นมา และทำให้ท้องฟ้ามีรายละเอียดมากขึ้น”

ทางพี่เอ้อและพี่เกมส์ช่วยกันออกความเห็นว่า ไฟล์ Blackmagic RAW มี Dynamic Range ที่ค่อนข้างดี โดยเฉพาะเวลาที่รายละเอียดบางส่วนของภาพหายไปในขั้นตอนการถ่ายทำ ในกระบวนการทำสีจะสามารถดึงรายละเอียดกลับมาได้ โดยเฉพาะช่วงที่เป็น Highlight และ Shadow การทำงานจึงให้ความยืดหยุ่น ทำให้สามารถปรับแต่งได้เยอะในแบบที่อยากจะได้

หลังจากถ่ายทำเสร็จ ก็มาสู่ขั้นตอนหลังการถ่ายทำหรือ Post Production โดยห้องตัดจะเริ่มนำไฟล์มาขึ้นฟุตเทจ (Footage) และเตรียมโปรเจกต์ให้พร้อมสำหรับเริ่มต้นการตัดต่อ 

พี่อ๊อฟ เล่าให้เราฟังถึงวิธีการคิด และกระบวนการในการทำงานตั้งแต่ต้นจนจบ งานตัดต่อซีรีส์ดราม่าที่ถือว่าใหม่และท้าทายสำหรับพี่อ๊อฟ ซึ่งต้องมีการเตรียมตัวพอสมควร พี่อ๊ออฟบอกว่า “ไม่ใช่แค่นักแสดงนะครับที่ต้องทำอารมณ์ เราเองก็ต้องบิวต์อารมณ์อยู่เหมือนกัน พยายามคิดว่าถ้าเป็นตัวเราในเรื่องเราจะรู้สึกยังไง ใส่ไอเดียใส่อารมณ์ของเราเข้าไปด้วยในการตัดงาน”

พร้อมกันนั้นยังเสริมว่า “การอ่านบทก็คือการอ่านโจทย์ แต่เราก็มีการใส่ไอเดียเราเข้าไปด้วย ดราฟต์แรกที่ตัดต่อ มันจะเป็นความคิดของผมจ๋าๆเลย จากนั้นเราก็จะมาคุยกับพี่เอ้อ มีการแชร์ไอเดียกัน ว่าแต่ละซีนตอบโจทย์อย่างที่พี่ต้องการมั้ย เพราะ EP. แต่ละ EP. มันมี Meaning ครับ”

ขั้นตอนการทำงาน เมื่อเราอ่านบทและทำความเข้าใจ ก็เริ่มขึ้นดราฟต์แรก ซึ่งเป็นดราฟต์เพื่อเช็คคัตติ้งว่ามีอะไรขาดหายไปหรือไม่ดราฟต์ที่สองจะมานั่งดูอีกทีแล้วเก็บอารมณ์แต่ละซีนเลย “ช็อตนี้ต้องทิ้งอารมณ์หน่อยไหม ก็จะคอยดูครับ รอบสองก็จะเป็นการเก็บเนียน  รอบสามก็จะเป็นการมานั่งดูอีกทีในฐานะคนดูครับ ว่าเค้าจะรู้สึกยังไง ตอนนี้มีช่วงไหนที่มากไปหรือน้อยไปมั้ย แต่ละซีนแต่ละฉาก สามดราฟต์นี่คือวันเดียวที่นักตัดต่อต้องทำและดูเอง หลังจากนั้นเราก็เอาไปเสนอผู้กำกับครับ”

ในการจัดการโปรเจกต์และจัดการไฟล์ พี่อ๊อฟบอกเราว่า มีความจำเป็นต้องวางระบบ Workflow การทำงานก่อน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาทีหลัง โดยเฉพาะเรื่องการ Sync เสียง มักมีปัญหามาก การตั้งค่า Timecode และการตั้งชื่อไฟล์ ก็มีความสำคัญ ปัญหาที่เกิดจะทำให้ส่วนของงาน Post Production ทั้งส่วนของการตัดต่อ และการเกรดสีจะรวนไปทั้งระบบ

ส่วนการจัดการไฟล์ในโปรแกรมตัดต่อ จำเป็นต้องแยกแต่ละ EP. ให้เป็นโปรเจกต์ไป เพราะถ้ารวมทั้งซีรีส์ไว้ในโปรเจกต์เดียว เวลามีปัญหาก็จะไปหมดทั้งโปรเจกต์ เพราะฉะนั้นจึงต้องแยกแต่ละ EP. ออกจากกัน

ทางห้องตัดจะทำการแปลงไฟล์  RAW ให้เล็กลง หรือที่เรียกว่าการทำงานกับไฟล์  Proxy เพื่อให้ง่ายสำหรับการตัดต่อ และมีปัญหาน้อยที่สุด เมื่อตัดต่อเสร็จก็จะส่งไทม์ไลน์นั้นไปยังห้องเกรดสี ทางห้องเกรดสีก็จะทำการลิงก์ไทม์ไลน์กลับไปที่ไฟล์ RAW 

การเกรดสี ให้ความสำคัญกับสีและคุณภาพของไฟล์ค่อนข้างมาก จึงต้องทำงานกับไฟล์ Blackmagic RAW ต้นฉบับ

พี่เกมส์เล่าให้เราฟังว่า การส่งต่องานจากห้องตัดต่อมาที่ห้องทำสี จะต้องมีการ Clean Timeliine ก่อน เพื่อให้สามารถเริ่มการเกรดสีได้สะดวกขึ้น ใน DaVinci Resolve มีเครื่องมือให้เราสามารถมา Clean Timeline ได้ค่อนข้างง่าย และไม่มีปัญหาจุกจิก ตอนนี้พี่เกมส์เลย  Clean Timeline เองเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาระหว่างการย้ายไทม์ไลน์จากซอฟต์แวร์หนึ่งมายังอีกซอฟต์แวร์หนึ่ง

หลักการในกระบวนการทำงานก็คือ หลังจากเราดูคัตติ้ง 2-3รอบ ก็จะเริ่มทำงานจากช็อตหลักก่อน เพื่อเริ่มการดีไซน์ลุค และทำการเกรดสี หลังจากนั้นเราก็ไปทำต่อให้ช็อตที่อยู่ซีนนั้นๆ เช่น ช็อตรับหน้านักแสดงมุมต่างๆ ช็อต Medium, Close-up เพื่อให้ลุคเหมือนกันทั้งซีน ดูแล้วสวยงามและมีความต่อเนื่อง

พอมาถึงตอนที่ต้องเสนองานให้พี่เอ้อดู ก็จะมีการแชร์ไอเดียกัน พี่เอ้อ จะคอยช่วยดูด้วยว่าบรรยากาศอุณหภูมิแสงและสีของซีนนั้นๆ เทียบกับตอนที่ไปออกกองจริงเป็นอย่างไร สามารถเกรดสีให้ออกมาเป็นอย่างไรได้บ้าง โดยให้ซีนที่เป็น ภายใน (Indoor) และ ภายนอก (Outdoor) มีความต่อเนื่องและยังคงรักษาลุคและดีไซน์ของภาพโดยรวมอย่างที่ตั้งใจไว้ ให้สามารถส่งอารมณ์ทางภาพไปถึงคนดูได้ดีที่สุด

ในช่วงท้ายเรามีแอบถามพี่เกมส์มาว่า เส้นทางการเป็นคัลเลอร์ลิสต์นั้นเริ่มจากอะไร พี่เกมส์บอกว่าจริงๆไม่ได้มาทางสายนี้ตรงๆ แต่เร่ิมจากศึกษาการถ่ายภาพนิ่งมาก่อน แล้วก็มารู้จักการเกรดสีวิดีโอ ได้เรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องไฟล์ เริ่มต้นเส้นทางจากการเป็นผู้ช่วยคัลเลอร์ลิสต์ และฝึกฝนจนพัฒนาให้สามารถขึ้นมาเป็นตำแหน่งคัลเลอร์ลิสต์ในที่สุด

ขอขอบคุณพี่เอ้อ พี่อ๊อฟ พี่เกมส์ที่มาแบ่งปันความรู้ดีๆกับเรา 
ขอบคุณ Ze’-alots Boutique Post Production ที่ใจดีเอื้อเฟื้อสถานที่ให้เราเข้าไปสัมภาษณ์ในครั้งนี้ 
ขอบคุณภาพเบื้องหลังจากพี่ห่าน (สิทธิพงษ์ กองทอง)
สามารถติดตามวิดีโอเบื้องหลังเพิ่มเติมจากพี่ห่านได้ที่ Youtube Channel : HDR NOW by Sittipong Kongtong

ความสำเร็จของ “Mother…เรียกฉันว่าแม่”
 เข้าชิงรางวัลในเวที Asian Television Award 7 สาขา ได้แก่
– Best Drama Series, Best Adaptation of Existing Format
– Best Actress in a Leading Role – คุณแพนเค้ก เขมนนิจ จามิกรณ์
– Best Leading Female Performance-น้องมากิ มาชิดา สุทธิกุลพานิช
– Best Digital Fiction Programme/Series, Best Direction (Fiction) 
– Best Script Writing

สามารถเข้าไปดูซีรีส์ย้อนหลังได้ที่ Line TV และร่วมให้กำลังใจทีมงาน “Mother…เรียกฉันว่าแม่” ในงาน Asian Television Award วันที่ 15-16 มกราคม 2563 นี้